ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยที่ทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยที่อัตราการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ซึ่งการสวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุลงได้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร จากข้อมูลการวิจัย การสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้โดยสาร สามารถลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า การสวมหมวกนิรภัยสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 39% และโอกาสการบาดเจ็บรุนแรงได้ถึง 72% ซึ่งทางประเทศไทยได้มีการเก็บสถิติการสวมหมวกนิรภัยทุกปี โดยเป็นการใช้วิธีส่งคนสำรวจในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากรูปแบบของการพัฒนาของเทคโนโลยี ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการสำรวจด้วยการใช้การบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดแทน ซึ่งมีข้อดีหลายอย่างเช่น สามารถทำการนับย้อนหลังได้ มีหลักฐานชัดเจน ถ้าต้องการตรวจสอบความถูกต้องซ้ำ โดยที่ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้มีการพัฒนาขึ้น ทำให้สามารถใช้ภาพหรือวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในการนับจำนวนผู้สวมหมวกและไม่สวมหมวกนิรภัย โดยในโครงการวิจัยนี้จะเป็นโครงการนำร่อง ศึกษาวิจัยการนำระบบตรวจสอบการรายงานผลการสวมหมวกนิรภัยมาใช้งาน พร้อมเก็บรวมรวมข้อมูลสถิติต่างๆ เช่น ปริมาณรถจักรยานยนต์ ข้อมูลการสวมหมวกนิรภัย ก่อนและหลังใช้ระบบ พร้อมทั้งศึกษาแผนการขยายผล เพื่อการพัฒนาระบบอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

หน่วยเฝ้าระวังและสะท้อนสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิไทยโรดส์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการพัฒนาระบบการสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาระบบเก็บข้อมูลสถิติอัตโนมัติสำหรับนับจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยเทียบกับจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งสามารถขยายผลระบบฯ ให้สามารถทำงานแบบอัตโนมัติได้อย่างแม่นยำ ต่อเนื่อง และยังสามารถลดปริมาณการใช้เจ้าหน้าที่ในการสำรวจรวจเก็บข้อมูล โดยระบบฯ จะดึงข้อมูลภาพถ่ายวิดีโอจากกล้องอัตโนมัติ พร้อมทั้งสามารถใช้งานเชื่อมต่อกับกล้องวิดีโอที่ติดตั้งอยู่แล้ว โดยการประมวลผลข้อมูลจากภาพถ่ายวิดีโอ

 

รับผิดชอบโครงการ : มูลนิธิไทยโรดส์
ผู้สนับสนุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปีที่ดำเนินการ : 2564 – 2566