งานวิจัยที่ดำเนินการอยู่

มูลนิธิไทยโรดส์ อยู่ระหว่างการดำเนินงานศึกษาวิจัยในโครงการต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ

 

มูลนิธิไทยโรดส์ อยู่ระหว่างการดำเนินงานศึกษาวิจัยในโครงการต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ ตามประเด็นสำคัญด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย ได้แก่ พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน วัฒนธรรมความปลอดภัย การติดตามและประเมินผลมาตรการหรือกิจกรรมด้านความปลอดภัยทางถนน


โครงการ “การศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่รถยนต์ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป”

3 _Ageingปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ถือได้ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete – Aging Society) นับจากปี 2565 เป็นต้นไป ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ ในขณะเดียวกัน เมื่อจำแนกข้อมูลสถิติที่สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์สังคมสูงอายุ โดยเฉพาะสัดส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ระหว่าง ปี 2560-2564 พบว่า แนวโน้มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 16.8, 17.3, 19.6, 20.4 และ 20.8 ตามลำดับ

ซึ่งมีข้อถกเถียงในประเด็นผู้ขับขี่สูงอายุถึงความสามารถในการขับขี่และความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนหรือไม่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางกายที่ถดถอยลง กระบวนความคิดและการตัดสินใจ รวมถึงโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงและการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย จนกระทั่ง ในปี 2563 กรมการขนส่งทางบก ได้มีแนวคิดเรียกผู้ถือใบขับขี่ตลอดชีพกลับมาตรวจสอบความพร้อมสมรรถภาพในการขับรถเพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงก่ออุบัติเหตุทางถนน เช่นเดียวกับมาตรการการออกใบอนุญาตขับขี่ของต่างประเทศ ในการประเมินทดสอบสมรรถภาพของผู้ขับขี่สูงอายุ การให้ความรู้ฝึกอบรมเพิ่มเติม เป็นต้น

จากการศึกษางานวิจัยพฤติกรรมการขับขี่ของผู้สูงอายุ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประเด็นคือ 1.กลุ่มผู้ขับขี่ผู้สูงอายุที่ประเมินทักษะในการขับขี่ของตนเองไว้สูง โดยเชื่อมั่นความสามารถทักษะความชำนาญและประสบการณ์ในการขับขี่ของตนเอง ซึ่งมีแนวโน้มของพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่เหมาะสมของผู้ขับขี่เกิดขึ้น เช่น การละเมิด (Violations) มีพฤติกรรมขับขี่ที่ขัดต่อกฎหมาย ความผิดพลาด (Errors) ที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ และการละเลย (Lapses) ที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการขับขี่ เป็นต้น 2.ผู้ขับขี่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคต้อกระจก (Cataract) โรคต้อหิน (Glaucoma) มีข้อจำกัดในการมองเห็นและการเคลื่อนไหวขณะขับขี่ ทำให้มีความสามารถและประสิทธิภาพในการขับขี่ต่ำ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าผู้ขับขี่สูงอายุในกลุ่มที่ไม่มีโรคประจำตัว

จากสถานการณ์การขับขี่ของผู้สูงอายุข้างต้นนี้ จึงดำเนินการพัฒนาและจัดทำโครงการการรับรู้และความเข้าใจต่อ “ความเสี่ยง” และ “ความปลอดภัย” ของพฤติกรรมการขับขี่ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเปรียบเทียบพฤติกรรมการขับขี่ในกลุ่มผู้ขับขี่ที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งข้อมูลความรู้ดังกล่าวสามารถนำไปเผยแพร่สู่ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสาธารณะเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่อไป


โครงการศึกษาพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนกับความแตกต่างระหว่างวัย (Generation)

2.1 _Generationสืบเนื่องจากกลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของสถานการณ์ การเสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มช่วงวัยรุ่น (15-24 ปี) และกลุ่มวัยทำงาน (25-49 ปี) ตามลำดับ ประกอบกับสัดส่วนการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันนั้น มีข้อถกเถียงถึงพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของคนไทยที่อ้างอิงตามแหล่งข้อมูลสถิติสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย โดยเฉพาะการรับรู้และทัศนคติต่อกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงที่มีโอกาสหรือทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้เพิ่มขึ้นบนฐานความคิดความเชื่อและทัศนคติเชิงอคติที่พาดพิงอ้างถึง “กลุ่มช่วงวัย” ที่เป็นลักษณะเชิงเหมารวมและตีตราทางสังคม (Stereotype) อาทิ กลุ่มวัยรุ่นนักขับมือใหม่ กลุ่มผู้สูงวัยสภาพเสื่อมถอยของร่างกายและจิตใจ เป็นต้น

ในขณะที่งานศึกษาของต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มีการพิจารณาถึงพฤติกรรมการขับขี่ผ่านการจัดช่วงความแตกต่างระหว่างวัย (Generation) เพื่อศึกษากลุ่มผู้ขับขี่ชาวอเมริกันช่วงวัยต่างๆ มีพฤติกรรมการขับขี่เป็นอย่างไร ซึ่งผลการสำรวจมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ พบว่า กลุ่ม Baby Boomers เป็นผู้มีพฤติกรรมขับขี่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ 3 กลุ่ม จากสัดส่วนการได้รับใบสั่งการใช้ความเร็ว การใช้โทรศัพท์มือถือในการขับขี่ การดื่มแล้วขับ รวมถึงกลุ่ม Generation Z แม้จะอายุน้อยที่สุดบนท้องถนนแต่ไม่ได้มีพฤติกรรมที่แย่ที่สุดในอเมริกา พบว่า เป็นกลุ่มที่ระมัดระวังเรื่องเมาแล้วขับมากที่สุด ในขณะที่ กลุ่ม Generation Y หรือ Millennials นั้น กลายเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมขับขี่แย่ที่สุด ทั้งจำนวนอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นและการฝ่าฝืนกฎ เช่น การใช้ความเร็ว การใช้โทรศัพท์มือถือ การดื่มแล้วขับ การฝ่าไฟแดง เป็นต้น

ในขณะที่ประเทศไทยเมื่อสืบค้นถึงข้อมูลสถิติคดีจราจร โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสะท้อนสถานการณ์ข้อมูลสถิติและสัดส่วนการออกใบสั่ง พบว่า มีเพียงข้อมูลสถิติการออกใบสั่งความเร็วทั่วประเทศ ซึ่งบ่งบอกเพียงจำนวนใบสั่งความเร็วรวมทั้งสิ้น 11.8 ล้านใบ แต่ไม่มีการลงลึกว่าผู้กระทำผิดเป็นกลุ่มช่วงวัยใด อีกทั้ง ไม่พบงานศึกษาในไทยที่มุ่งพิจารณาความแตกต่างระหว่างช่วงวัยที่อาจมีความเชื่อมโยงถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ในขณะที่ผลการศึกษาในต่างประเทศมีหลักฐานปรากฏว่าลักษณะบุคลิกภาพและทัศนคติต่อความปลอดภัยทางถนน ส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงและการเกิดอุบัติเหตุที่แตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและประสบการณ์ของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะทัศนคติเชิงบวกต่อเรื่องความปลอดภัยทางถนนที่สัมพันธ์ต่อพฤติกรรมขับขี่ที่จะทำการละเมิดและผิดพลาดลดน้อยลงได้ในทั้งกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

จากประเด็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับขี่ข้างต้น จึงเกิดแนวความคิดการศึกษาพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนระหว่างวัย (Generation) ในประเทศไทย โดยจำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม Baby Boomers 2.กลุ่ม Generation X 3.กลุ่ม Generation Y หรือ Millennials และ 4.กลุ่ม Generation Z โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ การรับรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่มีความแตกต่างระหว่างวัย (Generation) อีกทั้ง การศึกษาความต้องการของรูปแบบวิธีการและมาตรการความปลอดภัยทางถนนที่เหมาะสมของแต่ละกลุ่มช่วงวัย นำไปสู่การพัฒนาและออกแบบรูปแบบวิธีการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และมาตรการความปลอดภัยทางถนนของแต่ละกลุ่มช่วงวัยได้


โครงการ “การศึกษาผลกระทบของโรคหยุดหายใจขณะหลับกับโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน”

0.2 _Sleep Apneaปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่สำคัญของประเทศไทย จากรายงานสถานการณ์โลก ด้านความปลอดภัยทางถนน ปี พ.ศ. 2561 (Global Report on Road Safety 2018) ซึ่งจัดทำโดย World Health Organization (WHO) พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยปีละ 22,491 คน (60 คนต่อวัน) ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก และเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอันดับหนึ่ง ในเอเชียและในภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เข่น การจำกัดความเร็วในการขับขี่ หรือห้ามทำการขับขี่ขณะมึนเมาหรือมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินปริมาณที่กำหนด และสำหรับพนักงานขับขี่รถโดยสารสาธารณะ รถตู้โดยสารสาธารณะ หรือรถบรรทุก ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดจำนวนชั่วโมงในการทำงาน ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อัตราการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

นอกเหนือจากนี้ ในการขออนุญาตสำหรับผู้ขับรถสาธารณะทุกประเภท มีข้อกำหนดเกี่ยวกับโรคประจำตัวซึ่งระบุไว้อย่างกว้างเท่านั้นว่า ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจ แต่ไม่มีการพูดถึงโรคที่มีผลกระทบต่อการนอนหลับ ซึ่งอาจส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อประสิทธิภาพการขับขี่ เช่น ส่งผลให้นอนหลับไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงขณะขับขี่รถ ตัวอย่างของโรคที่มีผลกระทบต่อการนอนหลับที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea, OSA) ซึ่งในงานวิจัยทางการแพทย์และความปลอดภัยทางถนน ระบุไว้ว่ามีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการขับขี่

ดังนั้น โครงการวิจัยนี้จึงได้ทำการทบทวนข้อมูลและแนวทางการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับและโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จากงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศ และดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงจากผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะของโรคหยุดหายใจขณะหลับที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการขับขี่ยานพาหนะ เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการง่วงนอนขณะขับรถและการหลับใน


โครงการศึกษาลักษณะการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์จากข้อมูลการสำรวจขนาดใหญ่ (Large-scale survey)

เป็นที่ยอมรับกันว่ารถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่อันตรายมากที่สุดบนท้องถนน และผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ องค์ความรู้จากการศึกษาในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาด้านความปลอดภัยของการใช้รถจักรยานยนต์เพียงบางส่วน อาทิเช่น เพศและอายุของผู้ขับขี่ที่ประสบเหตุ การมีใบอนุญาติขับขี่ การใช้หมวกนิรภัย การเปิดไฟหน้ารถ และพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาลักษณะการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ในแง่มุมต่างๆ เพิ่มเติม โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจขนาดใหญ่ (Large-scale survey) จากการสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น รูปแบบการเดินทางของผู้ประสบเหตุ ลักษณะของตัวรถจักรยานยนต์ที่ประสบเหตุ ถนนและสภาพแวดล้อม ณ จุดเกิดเหตุ รูปแบบการชนที่เกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงไปสู่ปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์และการบาดเจ็บที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมต่อไป งานวิจัยนี้ดำเนินงานโดยคณะผู้วิจัยจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิไทยโรดส์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ