ไทยโรดส์และเครือข่าย Road Safety Watch เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้ความเร็วของ รถตู้-รถบัสโดยสาร ล่าสุดพบ ผู้ขับขี่รถตู้โดยสารประจำทางใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ลดลงเหลือเพียง 9% เท่านั้น

“โครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” เป็นโครงการที่กรมการขนส่งทางบกสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารและรถบรรทุก ติดตั้งระบบ GPS Tracking โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา เพื่อให้ภาครัฐ ผู้ประกอบการขนส่ง และประชาชนสามารถติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ความเร็ว, ข้อมูลเส้นทางที่ใช้, ระยะทาง, ตำแหน่งพิกัดของรถ, ชั่วโมงการขับรถและเวลาหยุดพัก เป็นต้น โดยมีศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กรมการขนส่งทางบกทั้งที่ส่วนกลางและศูนย์ฯ GPS ในแต่ละจังหวัด เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะติดตั้งระบบ GPS Tracking และเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 83,564 คัน ซึ่งโครงการดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่มุ่งเน้นการป้องกันและลดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการขับขี่ด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะในบ้านเรา

มูลนิธิไทยโรดส์ ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่รถตู้-รถบัสโดยสาร ที่ได้ดำเนินการติดตามและเริ่มสำรวจครั้งแรกในปี 2556 จนกระทั่งปัจจุบัน ปี 2562 รวมทั้งสิ้น 4 รอบการสำรวจ ด้วยวิธีการใช้ปืนเลเซอร์ตรวจจับความเร็ว (Laser Speed Gun) บนจุดสำรวจ 28 จุด รัศมี 200 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลจากการสำรวจรอบล่าสุด ปี 2562 พบว่า สัดส่วนผู้ขับขี่รถตู้-รถบัสโดยสารที่ขับขี่ด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในภาพรวมลดลงเหลือเพียง 25% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มของรถตู้โดยสารประจำทางมีสัดส่วนของผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเพียง 9% เท่านั้น จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการดำเนินมาตรการการป้องกันและลดอุบัติเหตุโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การควบคุมพฤติกรรมการขับรถเร็วของรถโดยสารสาธารณะ ที่กรมการขนส่งทางบกได้มีการผลักดันบังคับใช้อย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะในบ้านเรา ได้อย่างถูกต้องและตรงจุด

 

รับผิดชอบโครงการ : มูลนิธิไทยโรดส์
ผู้สนับสนุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปีที่ดำเนินการ : 2560 – 2562