“รถกระบะ” ถือเป็นพาหนะที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าตลาดรถกระบะไทยใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และเป็นผลิตภัณฑ์เป้าหมายหลัก (Production Champion) ที่สำคัญของประเทศไทย จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน สร้างฐานการผลิต ตลอดทั้งการทำวิจัยเพื่อพัฒนาและยกระดับรถกระบะไทยสู่มาตรฐานสากล จากปรากฎการณ์ดังกล่าว ตลาดรถกระบะในประเทศไทยมีทิศทางและแนวโน้มเติบโตสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยอดการจำหน่ายรถกระบะที่เติบโตขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้มีโอกาสเกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

จากรายงานจำนวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก ปี พ.ศ.2559 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า รถกระบะเป็นประเภทรถอันดับสามที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย รองจากจักรยานยนต์และรถยนต์นั่ง ทั้งนี้แนวโน้มอุบัติเหตุและความรุนแรงของอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้รถกระบะไทยมีมูลเหตุที่สัมพันธ์กับปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยง เมื่อพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดจากรูปแบบการใช้งานที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ของรถกระบะ คือ การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากทั้งในห้องโดยสารและตอนท้ายรถกระบะ ประกอบกับการดัดแปลงและต่อเติมที่นั่งตอนท้ายและทำโครงหลังคาสำหรับรถโดยสาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยเสี่ยงและอันตรายอย่างมาก เนื่องจากไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์นิรภัยที่เหมาะสม เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจึงทำให้ผู้โดยสารมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต

จากสถานการณ์ปัญหาอุบัติเหตุรถกระบะข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างและอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถกระบะเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางมูลนิธิไทยโรดส์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดทำโครงการ “การศึกษาสถานการณ์ปัญหาความปลอดภัยของการเดินทางด้วยรถกระบะในประเทศไทย” โดยมุ่งหวังให้การศึกษาเกี่ยวกับปัญหาความปลอดภัยของการเดินทางด้วยรถกระบะนี้ จะนำไปสู่การกำหนดทิศทางและแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุด และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้รถกระบะผิดวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการใช้งานรถกระบะของคนไทยให้เหมาะสมต่อไปในอนาคตได้

 

รับผิดชอบโครงการ : มูลนิธิไทยโรดส์
ผู้สนับสนุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปีที่ดำเนินการ : 2560 – 2561