การฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางแยก ถึงจะมีจำนวนอุบัติเหตุเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนอุบัติเหตุทางท้องถนน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่มักจะเร่งความเร็วเพื่อขับขี่ผ่านทางแยก ก่อนที่สัญญาณไฟแดงจะปรากฎ จึงทำให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีผลต่อการใช้ความเร็วที่สูงขึ้น และเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความบกพร่องของผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่อาจมีปัจจัยทางด้านลักษณะทางกายภาพของถนน สภาพแวดล้อมอื่นๆ อีกด้วย

ดังนั้น การศึกษาในครั้งนี้เพื่อทราบถึงลักษณะของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการฝ่าฝืนสัญญาณไฟบริเวณทางแยก และนำผลการศึกษาไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงนโยบายทางด้านความปลอดภัยทางถนนในลำดับต่อไป

 

วัตถุประสงค์

  • เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ทั้งในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ครอบคลุมปัจจัยด้านคน รถ และสภาพแวดล้อมทางถนน

ผลการศึกษา

  1. ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ พบว่า ผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุไม่เกิน 20 ปี มักขับขี่รถจักรยานยนต์ประเภทเกียร์ธรรมดา โดยลำพังและไม่สวมหมวกนิรภัย รวมถึงเป็นผู้ขับขี่ผ่านทางแยกในลักษณะตรง มากกว่าผู้ขับขี่ที่ขับผ่านทางแยกในทิศทางอื่นๆ
  2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการฝ่าฝืนไฟจราจรของผู้ขับขี่ พบว่า แนวโน้มของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนและนักเรียน/ นักศึกษา ไม่สวมหมวกนิรภัย และมีใบอนุญาตขับขี่ถือครอง และข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ผู้ขับขี่ที่มีการประเมินความเสี่ยงจากประสบการณ์ของตนเองต่อการถูกเรียก/ จับกุมด้วยตำรวจ จะมีแนวโน้มฝ่าฝืนสัญญาณไฟน้อย ในส่วนของผู้ขับรถยนต์ส่วนบุคคล มีความคล้ายคลึงกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ยกเว้นกลุ่มอาชีพรับจ้าง/ ทำงานบริษัท ขับรถเก๋งเป็นหลัก และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย มีแนวโน้มฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
  3. ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางแยก พบว่า ในบริเวณทางแยกที่มีจำนวนช่องจราจรและความกว้างช่องจราจรมาก ไม่มีช่องจราจรสำหรับรอเลี้ยว และทางแยกที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรแบบไฟดวงกลมธรรมดาและแบบแขวนยื่น มีผู้ขับขี่ฝ่าฝืนเป็นจำนวนมาก รวมถึงพฤติกรรมการขับขี่ในช่วงเวลาและเส้นทางมีผลเช่นกัน โดยผู้ขับขี่มักฝ่าฝืนสัญญาณไฟช่วงเวลากลางคืน และยานพาหนะในทิศทางเลี้ยวขวา มีอัตราการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรมากกว่ายานพาหนะในทิศทางตรง
ผู้รับผิดชอบโครงการ : ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ และคณะ, ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย
ผู้สนับสนุน : มูลนิธิไทยโรดส์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปีที่เผยแพร่ : 2557
เอกสารเผยแพร่ : รายงานผลการศึกษา