เมื่อวันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา มูลนิธิไทยโรดส์ได้รับเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย ณ ห้องประชุมมาตุลี ชั้น 3 อาคารศูนย์วัตกรรมและเทคโนโลยีการขนส่งทางถนน กรมการขนส่ง ทางบก  ด้วยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการเรื่องร้องเรียนเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ทางข้ามถนน (ทางม้าลาย) และปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้รถใช้ถนนกรณีถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์เฉี่ยวชนขณะข้ามถนนบริเวณทางม้าลายเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในการ  ใช้รถใช้ถนน จึงได้บูรณาการร่วมกับกรมการขนส่งทางบกในการจัดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย    เพื่อสร้างจิตสำนึก สร้างเครือข่ายในการรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายอย่างปลอดภัย

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พร้อมด้วยนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย พร้อมร่วมกันมอบสติ๊กเกอร์รณรงค์ให้เครือข่ายรถโดยสารสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับรถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ให้บริการขนส่งอาหารและพัสดุ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยมีภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อทำให้ทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

นายทรงศัก เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกับ ขบ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทลงโทษเรื่องการจราจรบริเวณทางม้าลาย ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา อาทิ การกำหนดให้รถต้องหยุดบริเวณเส้นทึบทางม้าลาย เมื่อมีคนข้าม, การเพิ่มค่าปรับตามขั้นบันไดตามความเร็วของรถเมื่อผ่านทางม้าลาย โดยกำหนดให้หยุดรถที่ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับในปัจจุบัน กรณีไม่หยุดรถตรงทางม้าลายนั้น สตช. มีบทลงโทษค่าปรับอยู่ที่ 4,000 บาท ตามกฎหมาย และตัดแต้ม  ทั้งนี้ จึงได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเรื่องการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย เนื่องจากเดิมเป็นเพียงการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเท่านั้น ดังนั้น ต้องแก้ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ และมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนในเรื่องการกำหนดความเร็วบริเวณทางม้าลายนั้น เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นๆ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว อีกทั้งได้มีการประชุมกำหนดจุดติดป้ายกำกับความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2566

นายทรงศัก กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กทม. มีทางม้าลาย จำนวน 3,280 แห่ง โดยเมื่อปี 2565 ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางม้าลายแล้ว จำนวน 138 แห่ง ขณะที่ในปี 2566 จะดำเนินการปรับปรุงติดตั้งจำนวน 62 แห่ง ส่วนเรื่องกายภาพในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้มีการประสานงานกับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ ขบ. เพื่อจัดทำแผนที่กำหนดจุดที่มีลำดับความสำคัญ และครอบคลุม คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2566-2567
สำหรับ สถิติของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า เมื่อ 9 เดือนแรกของปี 2564 มีประชาชนเสียชีวิตจากการเดินเท้า ประมาณ 26 คนต่อเดือน ส่วนเมื่อปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 29 คนต่อเดือน และเมื่อวันที่ 21 ก.ย.-19 ธ.ค. 2565 หลังจากมีการรณรงค์ใหญ่ พบผู้เสียชีวิตลงลด เหลือเพียง 1 ราย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการผลักดันให้มีคณะกรรมการประสานงานฯ ในมิติต่างๆ และการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาฯ ซึ่งได้มีการหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กทม. และ ขบ. ในการปรับปรุงหลักสูตรเกี่ยวกับวินัยการจราจร ให้มีความเข้มข้นขึ้น ตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา เพื่อเป็นการสร้างค่านิยมการปลูกฝัง การเคารพกฎจราจร และการมีระเบียบวินัยในสังคมต่อไป

นายจิรุตม์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยในแต่ละปีมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก และจำนวนหนึ่งเกิดจากอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม ทั้งนี้ ขบ. จึงได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนในทุกมิติ

ทั้งนี้ จะมีการสอดแทรกประเด็นส่งเสริมความปลอดภัยบริเวณทางม้าลายไว้ด้วย ทั้งยังมีโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำและการใช้ทางข้ามถนนปลอดภัย ซึ่งจะมีการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของผู้ข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่        การออกแบบ รวมไปถึงกฎหมายสำหรับการควบคุมพฤติกรรม เพื่อให้ทางม้าลายหรือทางข้ามเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งต่อผู้ข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่ อย่างไรก็ตาม ขบ.มีความมุ่งหวังว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายในครั้งนี้ จะช่วยสร้างจิตสำนึก “ขับรถระวังคน ข้ามถนนระวังรถ” อีกทั้งผู้ขับขี่ต้องตระหนักถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประเทศไทย

 

Tags: