วันที่ 10 ม.ค. 67 ณ อาคารรัฐสภา สัปปายะสถาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน (WHO-Country Cooperation Strategy for Road Safety) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมควบคุมโรค มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน ภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “รัฐสภาไทย…สานพลังเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ยกระดับการลดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาคนโยบาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวว่า สถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนปี 2566 พบว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นลำดับ 18 ของโลก รายงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 2,888 ครั้ง บาดเจ็บ 2,307 คน เสียชีวิต 284 คน สาเหตุหลักเกิดจากขับเร็ว เมาแล้วขับ ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่คือจักรยานยนต์ หากเปรียบเทียบสถิติ 7 วันอันตรายในช่วงปี 2566 พบว่า อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลงระดับหนึ่ง นับเป็นสัญญาณและจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยทางถนนควรได้รับการขับเคลื่อนแก้ไขผ่านบทบาทด้านกระบวนการนิติบัญญัติ กำหนดนโยบายลดและป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาทุกคนพร้อมให้ความสำคัญกับมิติด้านความปลอดภัยทางถนนทั้งระดับนโยบาย ระดับการกำกับดูแล และระดับปฏิบัติ

“สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทน WHO ประจำประเทศไทย สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมหารือ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางลดและป้องกันอุบัติเหตุ สานพลังความร่วมมือแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุระดับชาติ โดยมีหน้าที่สำคัญ 1. ผลักดันนโยบายและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 2. จัดทำแผนปฏิบัติการ ติดตาม ตรวจสอบ และพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และ 3. ผลักดันความปลอดภัยทางถนนต่อเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาด้านความปลอดภัยทางถนนระดับภูมิภาค และระดับโลก เสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบ และเข้มแข็ง รัฐสภาจะผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นวาระสำคัญ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางให้กับสังคมไทยต่อไป”  นายพิเชษฐ์ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียชีวิตในกลุ่มประชากรวัยเด็กเยาวชน และวัยทำงาน ที่เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงต้องสร้างความร่วมมือจากทุกส่วน ยกระดับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ส่งเสริมให้มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรโดยใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาช่วย มีตัวอย่างความสำเร็จในหลายพื้นที่ที่สามารถนำมาปรับใช้แก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านคน รถ ถนนและสภาพแวดล้อม ซึ่งหากรวบรวมความรู้ทางวิชาการอย่างเป็นระบบจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สสส. และภาคีเครือข่าย ยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในวาระสำคัญ ร่วมสานพลังสร้างความตระหนัก และร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของคนไทยทุกคน รวมถึงสื่อสารกับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านความปลอดภัยทางถนน สังคม และประชาชนร่วมกับรัฐสภา ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ประเทศ สามารถลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ตามเป้าหมายของ “แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 ปี พ.ศ.2565-2570” คือ ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากร หรือ 8,474 ในปี 2570 สร้างความปลอดภัยทางถนนร่วมกันอย่างยั่งยืน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิไทยโรดส์ได้รับเกียรติเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อสร้างความตระหนักและความร่วมมือในการขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของคนไทย และสานพลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเชิงรุก เพิ่มความเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ตามเป้าหมายต่อไป