กรมทางหลวง ร่วมกับสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหน่วยปฏิบัติการวิจัยการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เปิดตัว “มาตรฐานความปลอดภัยทางหลวง 4.0” โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนสำหรับกรมทางหลวง (ระยะที่ 2) ในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2560  เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้อง Infinity 1 โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนางานทางด้านความปลอดภัยและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการยกระดับความปลอดภัยทางถนนให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล เริ่มด้วยการสำรวจดัชนีความปลอดภัยทางกายภาพของถนน (Road Assessment Index : RAI) ให้กับทางหลวงทั่วประเทศ เพื่อคำนวณออกมาเป็นคะแนนให้กับทางหลวงสายต่าง ๆ พร้อมเร่งแก้ไข 12 ทางโค้ง อันตรายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

โดยนำเสนอผลข้อมูลและรายละเอียดโครงการดังนี้

1. วิเคราะห์และประเมินระดับมาตรการความปลอดภัยของถนนโดยได้จัดทำเป็นดัชนีความปลอดภัยกายภาพของถนน (RAI) สำหรับโครงข่ายถนนของกรมทางหลวงทั่วประเทศระยะทางกว่า 60,000 กิโลเมตร ซึ่งดัชนี RAI มีประโยชน์คือเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงระดับมาตรการความปลอดภัยของถนน โดยเก็บข้อมูล ปัจจัยด้านมาตรการความปลอดภัยทางกายภาพของถนนกว่า 22 ปัจจัย เช่น ความกว้างช่องจราจรและไหล่ทาง ลักษณะแนวทาง ระยะมองเห็น และอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ เป็นต้น  และคำนวณออกมาเป็นคะแนนให้ระดับตั้งแต่ 1 ดาว ถึง 5 ดาว (ดีที่สุด) ซึ่งกรมทางหลวงจะได้นำข้อมูลดังกล่าว มาใช้ในการวางแผนยกระดับความปลอดภัยให้กับเส้นทางหลวงที่ยังมีระดับมาตรการความปลอดภัยที่ต่ำให้ดีขึ้นต่อไป

2. สำรวจและประเมินสภาพจุดเสี่ยงอันตรายในบริเวณทางโค้งของกรมทางหลวง โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลกายภาพทางของทางหลวง ปริมาณจราจร สถิติอุบัติ และลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขในบริเวณทางโค้งเสี่ยงอันตรายจำนวน 12 โค้ง ได้แก่

  • ทางหลวง 12 ช่วงน้ำดุก-ห้วยซำมะคาว
  • ทางหลวง 118 ช่วงเชียงใหม่-ดอยนางแก้ว
  • ทางหลวง 210 ช่วงวังสำราญ-วังสะพุง
  • ทางหลวง 216 ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานีด้านทิศตะวันตก
  • ทางหลวง 402 ช่วงโคกกลอย-หมากปรก
  • ทางหลวง 1035 ช่วงสำเภาทอง-สันติสุข
  • ทางหลวง 1092 ช่วงปง-ปัวดอย
  • ทางหลวง 2095 ช่วงพรเจริญ-โซ่พิสัย
  • ทางหลวง 3199 ช่วงช่องสะเดา-ศรีสวัสดิ์
  • ทางหลวง 4018 ช่วงไม้เสียบ-หัวถนน
  • ทางหลวง 4029 ช่วงกะทู้-ป่าตอง
  • ทางหลวง 4034 ช่วงปากน้ำกระบี่-เขาทอง

3. พัฒนาระบบสารสนเทศที่จำเป็นในการประมวลผล และจัดการข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงสามารถใช้งานผ่านมือถือ HSMS (Highway Safety Management System) และทำการวิเคราะห์ และวางแผนยกระดับความปลอดภัยบนทางหลวงต่อไป