เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2560 ณ ห้องประชุมจูเนีย 3 ชั้นที่ 3  โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ แกรนด์ สุขุมวิท ได้มีการจัดการประชุมเพื่อนำเสนอผลสำรวจข้อมูลการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2558 โดย มูลนิธิไทยโรดส์ ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานยุทธศาสตร์การศึกษา สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในประเทศไทย

ซึ่งได้ดำเนินการเก็บข้อมูลโรงเรียนและสถานการณ์การให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 437 แห่ง พบว่า ผลของชั่วโมงการสอนเรื่องความปลอดภัยทางถนน ปีการศึกษา 2558 ทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน และ การจัดกิจกรรมเสริมนอกเหนือในชั้นเรียน พบว่า

  • ระดับอนุบาล ถึง ป.6 มีการเรียนการสอนในชั้นเรียน เฉลี่ย 40 นาทีต่อปีการศึกษาปี 2558 และการจัดกิจกรรมเสริมนอกเหนือในชั้นเรียน เฉลี่ย 43 นาทีต่อปีการศึกษาปี 2558
  • ระดับชั้นอนุบาล ถึง ม.6 มีการเรียนการสอนในชั้นเรียน เฉลี่ย 38 นาทีต่อปีการศึกษาปี 2558 และการจัดกิจกรรมเสริมนอกเหนือในชั้นเรียน เฉลี่ย 39 นาทีต่อปีการศึกษาปี 2558

สำหรับลักษณะกิจกรรมเรื่องความปลอดภัยทางถนน ปีการศึกษา 2558 ที่ดำเนินการโดยบุคลากรในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ คือ การประชาสัมพันธ์และการให้ความรู้ข่าวสารเรื่องความปลอดภัยทางถนน บริเวณหน้าเสาธง ห้องโฮมรูม เสียงตามสาย ช่วงเช้า-เย็น คิดเป็นร้อยละ 62.2 ในขณะที่ หน่วยงานภายนอกเป็นการจัดโครงการ/ ค่าย/ อบรม “หลักสูตร”เรื่องการใช้รถใช้ถนนปลอดภัยในสถานศึกษา คิดเป็นร้อยละ 74.5

โดยในปีการศึกษา 2558 มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอนเรื่องความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษาถึง 60% โดยมี สองหน่วยงานที่มีอันดับสูงสุด ได้แก่ สำนักการศึกษา/ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)/ กรุงเทพมหานคร (36.3%) และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ (36%) อีกทั้ง สัดส่วนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ได้เข้าร่วมอบรม งานสัมมนาฯ ที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานด้านถนนปลอดภัย มีเพียง 26% เท่านั้น

ด้านทัศนคติ/ ความคิดเห็นต่อการบรรจุความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน พบว่า

  1. ข้อจำกัด ของการนำความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน ไปบูรณาการกับการเรียนการสอนในโรงเรียน
    • ด้านโครงสร้าง/ นโยบายของหลักสูตรฯ ในปัจจุบัน พบว่า ข้อจำกัดของเวลา และโครงสร้างหลักสูตร มีวิชา/สาระการเรียนรู้บรรจุไว้จำนวนมาก มากถึงร้อยละ 27.3
    • ความเหมาะสมของเนื้อหา รูปแบบกิจกรรม และสื่อการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน พบว่า เนื้อหา รูปแบบกิจกรรม และสื่อการเรียนรู้ที่มีไม่เหมาะสมตามวัยผู้เรียน และไม่ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา ร้อยละ 34.5
    • การสนับสนุนและความร่วมมือของผู้ปกครอง/ ชุมชน ในเรื่องความปลอดภัยทางถนน พบว่า ผู้ปกครอง/ ชุมชนไม่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยทางถนน และปฏิบัติตนไม่เหมาะสมเรื่องกฎจราจร ร้อยละ 40.4
    • ข้อจำกัดอื่นๆ พบว่า บทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการใช้รถใช้ถนน เพื่อเข้ามาให้ความรู้ และจัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในสถานศึกษา และชุมชน มีน้อย/ ไม่มี ร้อยละ 51.4

2. หากบรรจุเป็น “สาระ” ในรายวิชา อะไรคือ ปัจจัยส่งเสริม/ สนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาและนำความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน ไปบูรณาการกับการเรียนการสอนในโรงเรียนของท่านได้

    • ด้านโครงสร้าง/ นโยบายของหลักสูตรฯ ในปัจจุบัน พบว่า ความชัดเจนของการจัดทำหลักสูตรและกำหนดตัวชี้วัด เพื่อนำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้จริงตามสถานการณ์ปัจจุบัน (45.6%)
    • ความเหมาะสมของเนื้อหา รูปแบบกิจกรรม และสื่อการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน พบว่า การออกแบบเนื้อหา รูปแบบกิจกรรม และสื่อการเรียนรู้ที่น่าดึงดูดใจ เหมาะสมกับวัย และทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน (52.9%)
    • การสนับสนุนและความร่วมมือของผู้ปกครอง/ ชุมชน ในเรื่องความปลอดภัยทางถนน พบว่า การขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง/ ชุมชน ในเรื่องความปลอดภัยทางถนน เช่น การปฏิบัติตามกฎจราจร และการเป็นตัวอย่างที่ดี (32%)
    • ข้อจำกัดอื่นๆ พบว่า บทบาทของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนน ให้การสนับสนุนทั้งด้านกิจกรรม ความรู้ และบุคลากร (52.6%)

3. การกำหนดให้มี “หลักสูตรเรื่องความปลอดภัยทางถนน” ทุกชั้นปี ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการในอนาคต

  • “เห็นด้วย” ร้อยละ 79 โดยกำหนดให้ สุขศึกษาและพลศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง (49.2%)
  • “ไม่เห็นด้วย” ร้อยละ 27 โดยให้เหตุผลที่ว่า บรรจุอยู่ในสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาแล้ว และบูรณาการกับสาระการเรียนรู้อื่นๆ แล้ว ไม่ควรทำจะเกิดความซ้ำซ้อน (49%)

ทั้งนี้ มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการขยายผลการสำรวจฯ ระบบโรงเรียนสามัญศึกษา ในระยะที่ 2 ได้แก่ โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร 821 แห่ง จะดำเนินการในปี 2560 และระยะที่ 3 โรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 33,717 แห่ง ในลำดับต่อไป